คุณเอกลักษณ์  ศรีสุขใส

Producer รายการทุบโต๊ะข่าวกับรายการต่างคนต่างคิด ทางช่อง Amarin TV HD

และผู้ประกาศข่าวในรายการ Amarin Morning News ทางช่อง Amarin TV HD

 

“พี่ว่าเทเวศร์สอนไม่ง่ายเลยนะ”

ปอนด์-เอกลักษณ์  ศรีสุขใส รุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน  สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง

ปัจจุบันเป็นผู้ประกาศข่าวรายการ Amarin Morning News  และ  Producer  รายการทุบโต๊ะข่าวกับรายการต่างคนต่างคิดทางช่อง Amarin TV HD   พี่ซึ่งปอนด์จะมาเล่าเรื่องราว  ให้แง่คิดและให้เทคนิคดีดีที่สามารถนำมาใช้ได้ในการเรียน ตลอดจนการทำงาน

ทำไมถึงเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

            ความจริงพี่แอดมินชั่นติดสายวิทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ความฝันจริงๆแล้วก็คือ อยากเป็นผู้ประกาศข่าวในพระราชสำนัก พี่ก็เลยอยากเรียนทางด้านนี้  เผอิญว่าที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครเปิดรับสมัครนักศึกษารอบรับตรง ก็เลยมาสมัครเข้าคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ปรากฏว่ามีรายชื่อสอบติดที่นี่  จึงต้องเลือกและตัดสินใจว่าจะไปเรียนที่ไหน และจะเลือกเรียนอะไร พ่อกับแม่บอกว่าให้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยากให้ไปเรียนสายวิทย์  แต่ด้วยความรู้สึกตอนนั้นคืออยากทำตามความฝันของตัวเอง พี่ก็เลยเลือกที่จะเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครเพราะว่าอยากทำงานด้านสื่อและอยากทำงานในวงการ

มีแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้อยากเข้ามาเรียนในคณะนี้

            คือมันมีหลายช่วง อย่างตอนเด็กๆอยากเป็นผู้ประกาศข่าวในพระราชสำนัก แต่พอเข้ามาเรียนก็รู้สึกว่าอยากเป็นผู้สื่อข่าว อยากเป็นคนนำเสนอ อยากเป็นคนถ่ายทอดจากสิ่งที่เราได้เห็นไปให้ทุกๆคนได้เห็นและได้รับรู้เหมือนกับเรา  และพี่เคยเรียนกับอาจารย์ท่านหนึ่ง อาจารย์ท่านนั้นได้บอกว่า “จงเป็นกระจกที่สะท้อนสังคม ถ้าคุณจะไปทำงานด้านสื่อ คุณก็ต้องเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมมีปัญหาอะไรบ้าง สังคมมีมุมดีดีอะไร สังคมมีมุมแย่ๆอะไร แล้วก็ให้นำออกไปบอกแก่คนในสังคมได้รับรู้”  และพอได้เรียนพี่ก็ได้มีการลงพื้นที่  ได้ไปลองฝึกทำ มันเลยทำให้พี่อยากจะเป็นผู้สื่อข่าวจริงๆ  แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปเป็นผู้สื่อข่าวสายอะไร เพราะมันมีหลายสาย ทั้งด้านสายการเมือง อาชญากรรม บันเทิง ฯลฯ ก็เลยลองไปทำในทุกๆสายดูก่อน

DSC_0407

ตอนเรียน มีวิชาอะไรที่คิดว่ายากที่สุดและวิชาที่ง่ายที่สุด

คือพี่จะเป็นคนที่ไม่ถนัดทางด้านไอทีกับด้านคอมพิวเตอร์เลยแม้แต่นิดเดียว ยิ่งพวกกราฟฟิกนี่ยิ่งทำไม่เป็นเลย  และวิชาที่ยากอีกวิชาหนึ่งนั่นก็คือวิชาภาษาอังกฤษ  จำได้ว่าตอนเรียนมีอยู่เทอมนึงพี่ได้เกรด A หกตัว แล้วภาษาอังกฤษพี่ได้เกรด D+ ตอนนั้นเนี่ยมันทำให้พี่รู้สึกว่าวิชาภาษาอังกฤษไม่จำเป็นต้องเรียน คือมันห่างไกลตัวและก็มันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเอามาใช้ แต่พอออกมาสู่โลกของการทำงานจริงๆแล้ว คือมันไม่ใช่เลย พอมาทำงานด้านสื่อกลับกลายเป็นว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญอย่างมาก และถ้าถามว่าวิชาไหนที่ง่าย ต้องขอบอกเลยว่ามันไม่มีวิชาไหนที่ง่าย  สื่อสารเทเวศร์ไม่ได้เรียนง่ายๆ แล้วอาจารย์แต่ละท่านก็มีวิธีการสอนที่แตกต่างกัน  มีความยากง่ายในการสั่งงานไม่เหมือนกัน ยิ่งตอนที่อาจารย์สั่งงานพร้อมกัน แล้วให้ส่งพร้อมกันนี่แหละเรื่องยากมากกว่าที่เราจะต้องมีการบริหารและจัดการเวลาในการส่งงาน  แต่พี่ก็มีความรู้สึกโอเคนะกับการที่อาจารย์สั่งงานแบบนี้ มันเหมือนกับการได้ฝึกตัวเองในด้านการทำงานจริงๆ เพราะเวลามาทำงานจริงหัวหน้าเขาก็จะสั่งงานแบบนี้ โดยที่ไม่สนใจว่ากระบวนการทำงานที่ได้มานั้นคุณจะได้มายังไง แต่สุดท้ายคืองานของคุณต้องส่งมาถึงฉัน พี่เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เจอมาตอนเรียน การอดหลับอดนอน  ต้องรีบทำงานส่งให้ทัน มันเป็นเรื่องแค่เสี้ยวเดียว

ส่วนใหญ่วิชาที่ชอบก็คือวิชาเชิงปฏิบัติ เช่น  วิชาการเขียนข่าว วิชาการรายงานข่าววิทยุ วิชาวิจัยและวิชาสัมมนาซึ่งวิชาเหล่านี้มันทำให้เราได้อ่านเยอะ ได้รู้เยอะซึ่งมันทำให้เราก็มีความรู้มากพอที่จะนำไปถ่ายทอดและต่อยอดต่อไปได้  และวิชาที่รู้สึกว่ามันดีมากๆที่ได้เรียนนั่นก็คือ วิชาการจัดผัง ซึ่งวิชาการจัดผังมันทำให้รู้ว่าในแต่ละส่วนมันเป็นยังไงบ้าง และทุกวันนี้ที่เข้ามาทำงานมันก็ทำให้รู้ว่าเราได้ใช้ประโยชน์จากวิชาการจัดผังจริงๆว่า การประเมินคู่แข่งเราต้องประเมินยังไง ต้องวิเคราะห์ยังไง เพราะว่าพี่ทำงานที่นี่พี่ไม่ใช่ผู้ประกาศเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นโปรดิวเซอร์รายการทุบโต๊ะข่าวกับรายการต่างคนต่างคิดด้วย พี่ก็เลยต้องดูเรื่องของรายการ เรื่องของเรทติ้งและหลายๆส่วนที่ต้องนำมาประกอบกันและก็ต้องนำข้อมูลหลายๆอย่างมาวิเคราะห์เช่น ช่วงเวลาที่รายการเราออกอากาศมีรายการช่องอื่นๆทำอะไรบ้าง ช่องเรามีเรทติ้งดีหรือไม่ดียังไงบ้าง แล้วเราจะต้องมาปรับปรุงและแก้ไขรายการของเราอย่างไรบ้าง

DSC_0421

มีวิธีการอย่างไรที่ทำให้มีผลการเรียนดี      

เอาจริงๆคือพี่ไม่ได้เป็นคนที่เรียนเก่ง ไม่ได้เป็นคนที่เรียนดี แต่จะเป็นคนที่อินกับอะไรได้เร็ว อย่างเช่น เรียนวิชาการเขียน พี่ก็จะอินกับวิชาการเขียนให้ได้เร็วที่สุด เพราะการอินก็เหมือนการที่เราทำสมาธิให้กับตัวเอง ตอนเรียนก็พยายามอินและทำความเข้าใจกับมันให้ได้ไวที่สุดและก็พยายามเรียงลำดับตามเหตุการณ์และความสำคัญของมัน ส่วนใหญ่เวลาเรียนพี่จะเป็นคนกลางระหว่างอาจารย์กับเพื่อนๆ จะเป็นคนสรุปทุกอย่างแล้วก็นำมาบอกเพื่อนๆอีกครั้ง อย่างตอนจะสอบก็จะช่วยติวให้เพื่อนๆ ส่วนเทคนิคที่ใช้นั่นก็คือการจับใจความ คือต้องฝึกอ่านและทำความเข้าใจกับมันก่อนเสมอ ถ้าจะถามว่าแล้วทำยังไง ให้น้องๆลองฝึกอ่านอะไรก็ได้สักหนึ่งหน้ากระดาษแล้วก็เล่าให้เพื่อนหรือคนข้างๆฟังว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่เราเล่าไปไหม ถ้าเขาเข้าใจได้ในครั้งเดียว ก็เท่ากับว่าเราจับใจความนั้นได้และเราก็อินกับสิ่งนั้นได้เร็ว เหมือนกันกับการเรียนที่พี่ต้องอินกับสิ่งๆนั้น และคนที่สอนให้พี่อินถึงขนาดนี้ นั่นก็คืออาจารย์ดารณี ธัญญสิริ หรืออาจารย์เอ อาจารย์เอเป็นคนที่สอนให้พี่อินกับเรื่องทุกเรื่อง สำหรับพี่คำว่าตั้งใจเรียนมันดูห่างไกลนะ

“แล้วเราจะตั้งใจเรียนยังไงวะ”  มันเป็นคำถามที่ถามตัวเองมาตลอด ก็ฟัง ก็จดจากอาจารย์มาทุกครั้งแต่ก็ยังไม่เข้าใจ พี่ก็เลยไปถามอาจารย์เอ อาจารย์ก็บอกว่า “ต้องอินกับมัน” คือเหมือนเราดูละครเรื่องนึง แล้วเราสามารถเล่าให้เพื่อนฟังได้ว่าละครเรื่องนั้นมันเป็นยังไง จากตอนเริ่มเรื่องจนถึงตอนจบมันเป็นยังไง อย่างชีทที่อาจารย์ให้พี่ก็จะอ่านแล้วก็สรุปมันออกมา คือเราจะอ่านมันซ้ำๆ จนมันเข้าหัวและติดตาแล้วเราก็สรุปออกมาโดยการพูด มันจึงทำให้เราเข้าใจกับสิ่งนั้นได้ดี อย่างตอนทำงานก็จะทำแบบนี้ อ่านก่อนรอบนึงแล้วก็อินกับมันให้เหมือนกับว่าเราไปทำข่าวนั้นๆ และเหมือนเราได้ไปอยู่ ณ ที่ตรงนั้น ทำให้เวลาเราพูดหรือเวลาที่เรานำเสนอนั้นมันเป็นธรรมชาติ

ประทับใจอะไรในคณะบ้าง

            เอาจริงๆคือ พี่ไม่รู้จัก ไม่รู้จักราชมงคลพระนคร ไม่รู้จักพระนครเทเวศร์ เป็นมหาลัยเล็กๆหรอ รู้จักแต่มหาลัยดังๆ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ แต่พอเข้ามาเรียน ก็มีความรู้สึกว่า “เราได้ทำอะไรที่เราไม่ได้ทำ” พี่จะบอกว่าอุปกรณ์ที่เรามีไม่ได้แตกต่างกับที่ใหญ่ๆเลย อย่างห้องสตูดิโอ อุปกรณ์กล้องและอุปกรณ์ต่างๆ คือเด็กทุกคนได้จับ เด็กทุกคนได้ Control  เด็กทุกคนได้ลองใช้ ซึ่งราคานี่ไม่ได้ถูกนะ ซึ่งพี่มีความรู้สึกว่าอุปกรณ์เพียงเท่านั้นกับเด็กจำนวนเท่านี้มันถือว่าดีสุดๆแล้ว และก็โอเคกับการที่พี่ได้ทำงานทางสาย Production แต่พี่จะถนัดในเรื่อง Content  มากกว่า ซึ่งมันก็ทำให้รู้ถึงกระบวนการของ Production ว่าจะผลิตยังไง ต้องทำแบบไหน แล้วเราต้องเตรียม Content อย่างไรบ้าง และทำให้มันมา Match กัน  และจากคำว่า “ผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ” นั้นคือเรื่องจริง คือแบบว่าจบออกมาแล้วคือทำงานได้เลย ไม่ต้องสอนมาก อย่างกล้องถ่ายรูปเราก็จับมาตั้งแต่ปีหนึ่ง อย่างเราได้ลองทำรายการวิทยุ หาข้อมูลเอง อัดเสียงเอง ตัดเสียงเอง คือสิ่งพวกนี้เราได้ทำได้ปฏิบัติในมหาลัยมาก่อนอยู่แล้ว และถ้าเปรียบเหมือนกองทัพ ที่นี่อาจจะไม่ได้สอนให้เด็กเป็นแม่ทัพ แต่หากจะเป็นแม่ทัพก็ต้องใช้เวลา และพี่ว่าที่นี่สอนให้เด็กเป็นขุนพลที่พร้อมจะออกรบได้ตลอดเวลา

 DSC_0442

ประทับใจอาจารย์ท่านใดบ้าง

พี่รักอาจารย์ทุกท่านและก็จำได้ว่าอาจารย์ท่านไหนสอนอะไรบ้าง แต่มีอยู่หนึ่งท่าน นั่นก็คืออาจารย์ดารณี ธัญญสิริ หรืออาจารย์เอ เพราะอาจารย์เอเป็นที่ปรึกษาของห้องพี่ และเป็นอาจารย์ที่สามารถเรียกอย่างสนิทปากได้เลยว่า “อาจารย์แม่” เพราะว่าท่านให้วิชาความรู้แก่พี่มากๆ ตอนนั้นคณะจะทำเรื่องประกวดคลิปวีดีโอเพื่อชิงถ้วยพระราชทานเป็นปีแรก และพี่ก็ได้เป็นพิธีกรและอาจารย์เอก็เป็นคนดูแลพิธีกร ตอนนั้นพี่ก็มีความพราว มีความมั่นใจในตัวเองสูง มีความสามารถมากและเก่งมาก คือไม่รู้ว่าเอาความมั่นใจมาจากไหนถึงได้คิดแบบนั้น หรือเป็นเพราะว่าหลายๆคนเยินยอว่าพี่เป็นพิธีกรที่เก่งที่สุดในมหาวิทยาลัยในตอนนั้น ก่อนถึงวันที่พี่ต้องเป็นพิธีกร อาจารย์เอมาบอกว่าให้พี่ไปเขียนสคริป พี่ก็คิด ก็พิมพ์แล้วก็คิดว่าอะไรมันจะง่ายขนาดนี้ พอเสร็จก็เอาไปให้อาจารย์ดู ปรากฏว่าอาจารย์ฉีกสคลิปแผ่นนั้นต่อหน้าต่อตาแล้วก็ปาใส่หน้าและก็บอกว่าเขียน “สคริปแบบนี้ไปเขียนมาใหม่ มันใช้ในงานไม่ได้” พี่ก็ไปทำมาใหม่ในรอบที่สอง อาจารย์ก็ฉีกอีก และรอบสุดท้ายพี่ส่งสคริปให้อาจารย์ตอนห้าทุ่ม เชื่อมั้ยอาจารย์บอกพี่ว่า “ที่จริงสคริปผ่านตั้งแต่ครั้งแรกที่ส่งมาแล้ว” พี่ก็เลยงงว่าอะไรกัน ทำแบบนี้ทำไม อาจารย์จึงบอกว่า “คุณต้องโฟกัสกับสคริป ไม่ใช่โฟกัสที่ไมค์โครโฟนกับการพูด คือให้คุณโฟกัสกับเนื้อหา การฉีกครั้งที่หนึ่ง คือ คุณอ่านมาแล้วรอบนึง คุณทำมาแบบส่งๆ การฉีก สคริปครั้งที่สองนั่นหมายความว่าคุณได้อ่านใหม่ คิดใหม่ สรุปใหม่ อะไรดี อะไรไม่ดี และครั้งที่สามนั่นหมายความว่าคุณก็ต้องอ่านมาอีก ทำความเข้าใจและทบทวนกับมันอีกและทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมอีก” วันนั้นเลยทำให้พี่สามารถจำรายละเอียดของงานทุกอย่างได้ภายในวันเดียว แล้วอาจารย์ก็บอกอีกว่า “คุณทำตัวฉลาดเกินไป เพราะในชีวิตการทำงานจริง คุณต้องทำตัวให้โง่ที่สุด เพื่อที่จะได้ฉลาดและรู้ในทุกๆเรื่องให้ได้มากที่สุด ถ้าคุณทำตัวฉลาด คุณจะไม่ได้รับรู้เรื่องอะไรอีกเลย คุณรู้ใช่ไหมว่างานมันจะเป็นแบบนี้ แต่คุณรู้ไหมว่าข้างๆงานของคุณจะเป็นยังไง มีอะไรบ้าง แต่ละบอร์ดเป็นแบบไหนและแต่ละอันมีความหมายยังไง แล้วถ้าวันใดวันหนึ่งสคริปคุณหาย แล้วคุณจะเอาอะไรไปยืนพูด” นี่แหละพี่ถึงรู้สึกว่ามีอาจารย์เอคนเดียวเท่านั้นที่กระชาก เอกลักษณ์ สีสุกใส ให้ลงมาอยู่ที่ดินดังเดิม  ดินที่สามารถทำให้เจริญงอกงามเป็นต้นไม้ได้ ไม่ใช่เอาเมล็ดเขวี้ยง อยู่บนต้นไม้แล้วบอกว่าคือต้นไม้ นั่นไม่ใช่ต้นไม้ นั่นคือกาฝาก  และสิ่งที่สำคัญสำหรับพี่นั่นก็คือ สิ่งที่อาจารย์ทุกท่านได้มอบให้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ประสบการณ์ หรือหนังสือทุกเล่ม ชีททุกแผ่น พี่ยังเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เพราะพี่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้อาจารย์ตั้งใจทำให้พวกเรา อย่างผลงานทุกผลงานที่เคยทำ ไฟล์งาน เอกสารต่างๆ บทดราฟแรกยังดราฟสุดท้าย เสียงอัดทุกเสียง คลิปวีดีโองานทุกคลิป ก็ยังคงเก็บเอาไว้เป็นอย่างดี

 

กว่าจะมาถึงจุดๆนี้เป็นอย่างไรบ้าง

          พี่มาสมัครทำงานที่บริษัทอมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด เพราะว่าเป็นองค์กรที่ดีและอยู่ใกล้บ้าน วันนั้นที่นี่เปิดรับสมัครตำแหน่งผู้สื่อข่าว 1 คน แต่มีคนมาสมัครประมาณ 200-300 คน เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่เปิดทีวีดิจิตอลใหม่ๆ พี่ต้องสอบข้อเขียนในรอบการสอบคัดเลือกก่อน ซึ่งมีคำถาม เช่น ประธานศาลรัฐธรรมนูญคือใคร กกต.ย่อมาจากอะไร กปปส.ย่อมาจากอะไร คุณคิดยังไงกับนายก ให้คุณเขียนข่าวการเมือง ข่าวอาชญากรรม ข่าวต่างประเทศ ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวของเมื่อวานที่คุณดู ให้เขียนเป็นข่าวมาโดยที่ไม่ได้บอกมาก่อนเลยว่าคุณต้องเตรียมตัวอะไรมาบ้าง ซึ่งพี่ก็ผ่านรอบคัดเลือกมาด้วยคะแนนสูงสุดอันดับหนึ่ง แล้วก็เลยมาสอบสัมภาษณ์กับพี่พุทธ อภิวรรณ พอสัมภาษณ์เสร็จเขาก็ให้แนะนำตัวและรายงานข่าว โดยให้เวลา 2 นาที  ซึ่งพี่สามารถเขียนข่าวและรายงานข่าวให้พี่พุทธฟังได้  จนพี่พุทธก็อึ้งประมาณว่าทำได้ยังไง ต้องขอบอกเลยว่าสิ่งพวกนี้พี่ฝึกมาหมดแล้วฝึกมาจากมหาวิทยาลัยนั่นแหละ คือฝึกมาจากวิชาเทคนิคการประกาศข่าวของอาจารย์นิศากร การเขียนของอาจารย์กรรณิการ์ การรายงานข่าวจากอาจารย์เณริศา คือมันซึมมาหมดแล้ว

ทีนี้พี่พุทธก็พูดขึ้นมาว่า “พี่ไม่อยากรับเด็กเพิ่งจบใหม่” เราก็ใจสลายเลยทีนี้ แต่เขาก็ถามว่า “แล้วทำได้ไหม” พี่เลยตอบไปว่า “ทำได้ครับพี่” พี่พุทธเลยบอกว่า “งั้นมาทดลองงาน 3 วัน” พอออกมาทุกคนต่างบอกเลยว่า “ไม่มีใครได้เคยทดลองงาน มีแต่รับหรือไม่รับเท่านั้น”

            และด้วยการทำงานด้านนักข่าว จำเป็นต้องหมั่นศึกษา  เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

เรียนรู้การทำงานในด้านต่างๆ  การออกอากาศ  การทำงานของโปรดิวเซอร์ ฯลฯ  จนวันนี้ก็ได้มาเป็นโปรดิวเซอร์รายการทุบโต๊ะข่าวกับรายการต่างคนต่างคิด

ต่อมารายการ Amarin Morning News  มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่  ต้องหาผู้ประกาศข่าวเพิ่ม ซึ่งพี่หมูเขาเป็นผู้ประกาศข่าวเดิมอยู่แล้ว และเอาแชมป์มาเป็นผู้ประกาศข่าวเพราะเป็นนักข่าวสายการเมือง  ซึ่งเขาก็หาคนเพิ่มอีก  สุดท้ายก็คือพี่ที่ได้เป็นผู้ประกาศข่าวของรายการ Amarin Morning News

จากประสบการณ์ที่เรียนมา เอามาใช้ในการทำงานอย่างไร

            ต้องบอกเลยว่าเยอะมาก ที่เราเรียนมามันจะมีกระบวนการที่ไม่ได้สอนให้ทำจริงว่าจะให้คนดูดูยังไง ดังนั้นตอนเรียนคือเขาจะเน้นสอนที่กระบวนการคิดของเรา และในสนามการแข่งขันของชีวิตจริงเขาจะไม่สนใจหรอกว่าเราจะมาจากที่ไหน จบจากมหาวิทยาลัยอะไร ถ้าได้เข้ามาในสนามแล้วก็ต้องมาวัดกันว่าใครจะเป็นเบอร์หนึ่งและเป็นผู้ที่อยู่รอด

 DSC_0446

ฝากข้อคิดและแนะนำแนวทางดีดีให้แก่น้องรุ่นหลัง

            อันดับแรก คือ ต้องหาตัวเองให้เจอก่อนว่าเราต้องการที่จะเป็นอะไร แล้วก็มุ่งไปให้ถึงตรงนั้น ในระหว่างทางเราก็ต้องรู้ว่าเราต้องโฟกัสกับวิชาอะไร ต้องโฟกัสที่สิ่งไหน         สองคือ อินกับมันให้ได้มากและให้ไวที่สุด และสามสุดท้าย คือ ดูให้เยอะที่สุด ดูสื่อ ดูงาน ดูทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นข่าว สื่อทางทีวีต่างๆ รูปภาพ โฆษณา ฯลฯ เพราะพี่ถ้าเราเห็นอะไรมากๆ ดูอะไรเยอะๆหลายๆอย่างมันจะเป็นภาพจำในหัว พอเราเอามาปรับใช้ในด้านของเรา เอาสิ่งนั้นมาผสมกับสิ่งนี้แล้วมันจะกลายเป็นงานของเราที่ Perfect  และคนที่ไม่ดูอะไรเลยก็จะอยู่แต่ในกรอบแบบเดิมๆ  ถ้าถามว่าทำไมทุกคนต้องอยู่ในกรอบ  เพราะว่าถ้าเราไม่อยู่ในกรอบ เราก็จะไม่รู้เลยว่าอะไรคือสิ่งที่อยู่นอกกรอบ เพราะฉะนั้นในวิชาเรียนอาจารย์จะตีกรอบให้เรา แต่เราก็ต้องไปดูอย่างอื่นด้วยเพื่อให้รู้ว่าหลักการในกรอบมันเป็นแบบนี้ แล้วเราก็ใส่ไอเดียของเรา ใส่วิธีการคิดของเราที่อยู่นอกกรอบเข้าไป สิ่งนี้เองมันทำให้เราได้กลายเป็นคนที่มีมากกว่าคนอื่นแน่นอน

นี่ก็เป็นเรื่องราวและประสบการณ์ดีดีที่ “พี่” เล่าสู่กันฟังกับ “น้อง”

หวังว่าเรื่องราวนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ พี่ๆ และเพื่อนๆ ทั้งทางด้านการศึกษา ด้านการทำงาน

รวมถึงเส้นทางการเดินทางสู่อาชีพด้านสื่อมวลชนของตนเองในอนาคต

และในคราวหน้าจะมีพี่คนไหนที่จะมาบอกเล่า มามอบความรู้และมอบประสบการณ์ดีดีแบบนี้อีก

 ก็ต้องรอติดตามกันต่อไป.

Copy Writer

วราภรณ์  ศรีเพ็ญ

ภัทรพร  อุ่นมี

Photographer

ภัทรพร  อุ่นมี